“คัมภีร์ใบลาน” มรดกชาวพุทธ
ในสมัยโบราณ ได้มีการจารึกวิทยาการต่างๆ ไว้ในใบลาน เนื่องจากใบลาน เป็นวัสดุที่ทนต่อสภาพ
ดิน ฟ้า อากาศได้ดี จึงนิยมใช้ใบลานบันทึกเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่
พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา และสัททาวิเสส ล้วนจารึกไว้ในใบลานทั้งสิ้น
ใบลาน
ลานคือต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีใบแผ่คล้ายใบจาก แต่กว้างและยาวกว่า มีลูกเหมือนลูกจาก เมื่อนำมาเชื่อมทำเป็นของหวาน เรียก “ลูกชิด” ซึ่งก็คือลูกลานนั่นเอง
คนโบราณนำใบลานที่ยังอ่อน มาฟอกให้สะอาด นำไปตากให้แห้ง กดทับให้เรียบ แล้วนำมา “จารึก” ด้วยเหล็กแหลม เรียกว่า “เหล็กจาร” โดยนำใบลานไปวางบน “กากะเยีย” ที่ทำด้วยไม้
การจาร
หรือ “จารึก” ต้องทำด้วยความมั่นคงของมือ และแผ่วเบาในอัตราที่กำหนด เพื่อมิให้ใบลานทะลุ หรือเบาเกินไปไม่อาจเป็นตัวหนังสือชัดเจนได้
เมื่อ “จาร” แต่ละแผ่นครบถ้วนแล้ว จึงนำ “เขม่าไฟก้นหม้อดิน” ผสมกับ “น้ำมันยาง” เช็ดถูให้ทั่ว
ใบลานที่จารแล้ว นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท นำทรายร่อนจนละเอียดยิบ ขัดถูหน้าใบลานจนเขม่าออกหมด เหลือแต่ร่องรอยที่จารไว้เท่านั้นเป็นตัวหนังสือที่อ่านชัดเจน
จากนั้น จึงนำใบลานมาเรียงลำดับตาม “เลขหน้า” ที่จารึกเอาไว้ก่อน เลขหน้าของคัมภีร์ใบลานไม่ได้จารึกเป็นตัวเลข แต่เป็นตัวหนังสือ เรียกว่า “พยัญชนะวรรค”
“คัมภีร์ใบลาน” จึงนับเป็นมรดกทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ายิ่ง
พระคัมภีร์พุทธศาสนาในประเทศไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา ประเทศไทยเคยมีพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่ออยุธยาเสียกรุง เราเสียทั้งเอกราชและพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไปด้วย
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี และโปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกจนสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑
ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชศรัทธา โปรดให้ปริวรรตพระไตรปิฎก ซึ่งจารึกไว้บนใบลานด้วยภาษาบาลีอักษรขอม ออกเป็นภาษาบาลีอักษรไทยจนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นธุระในการชำระอรรถกถา ฎีกาต่างๆ และทรงนำพระไตรปิฎกที่พิมพ์
ในรัชกาลที่ ๕ มาชำระอักขระใหม่ เรียกว่า “พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ” งานนี้มาสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๒
ในสมัยรัชกาลที่ ๗
หลังจากนั้นไม่มีการบูรณะพระคัมภีร์กันอีกเลย จนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลปัจจุบัน คณะสงฆ์ และทางราชการได้จัดแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทยจนสำเร็จ และจัดพิมพ์เป็นชุดเพื่อฉลอง ๒๕
พุทธศตวรรษ
ขั้นตอนการปริวรรตอักษรขอม และอักษรโบราณท้องถิ่น
“มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ” เพื่อการค้นคว้าและเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนา ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้า
และจัดสร้างพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖ ด้วยเหตุผลว่า
ในช่วงเวลาดังกล่าว ตำรับตำราหนังสืออ่านประกอบทางพระพุทธศาสนาที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยมีน้อยมาก
ส่วนใหญ่คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกเพื่อให้ชาวพุทธได้เข้าใจคำสอนของพระบรมศาสดานั้น ยังเก็บอยู่ในคัมภีร์โบราณที่จารึกด้วยอักษรขอม และอักษรโบราณท้องถิ่น เช่น อักษรลานนาในภาคเหนือ และอักษรธรรมภาคอีสานตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินโครงการปริวรรตอักษรขอม และอักษรโบราณท้องถิ่น ชำระและแปลพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาไทย เพื่อรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ธำรงอยู่ตลอดไป
การปริวรรตพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่จารบนใบลานดังกล่าว แบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ บาลีอักษรขอม
ข้อมูลเดิมได้มาจากคัมภีร์ใบลานบาลีอักษรขอมที่จาร พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกาเป็นต้น โดยยืมมาจากวัดต่างๆ เช่นวัดบวรนิเวศวิหาร วัดโมลีโลกยาราม และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ฯลฯ นำมาถ่ายเอกสารเก็บไว้เป็นต้นฉบับ แล้วส่งคืนคัมภีร์ใบลานแก่วัดดังกล่าว
ขั้นตอนที่ ๒ การแปลงเป็นบาลีอักษรไทย
ต้องใช้ผู้มีความชำนาญในอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นมาทำการปริวรรต โดยดำเนินการเปลี่ยนอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นในคัมภีร์ใบลานให้เป็นอักษรไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงตามต้นฉบับโดยที่
ผู้ปริวรรตนั้นต้องไม่มีความรู้ภาษาบาลี เพราะถ้าให้ผู้รู้ภาษาบาลีมาปริวรรตแล้ว อาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
ขั้นตอนที่ ๓ การแบ่งวรรคตอนและตรวจชำระ
ต้องใช้นักวิชาการที่มีความรู้ทางภาษาบาลีมาทำการตรวจ ชำระเพื่อให้การตรวจชำระถูกต้องตามหลักภาษา โดยเทียบเคียงกับบาลีอักษรพม่า บาลีอักษรสีหล และบาลีอักษรโรมันเป็นต้น เมื่อพบว่ามีข้อแตกต่างกันก็ทำเป็นเชิงอรรถไว้
ขั้นตอนที่ ๔ การแปลเป็นภาษาไทย
เป็นการแปลเบื้องต้น โดยอาศัยหลักการแปลภาษาบาลี สำนวนยังเป็นภาษาโบราณตามหลักไวยากรณ์บาลี ผู้แปลจะต้องรักษาสำนวนการแปลไว้ ผู้ที่ไม่รู้หลักการแปลภาษาบาลีเข้าใจได้ค่อนข้างยาก หรือจะเรียกตามหลักการแปลภาษาบาลีว่าแปลโดยพยัญชนะ
ขั้นตอนที่ ๕ การเรียบเรียงเป็นสำนวนไทยธรรมดา
ขั้นตอนนี้เป็นการเกลาสำนวนคำแปลเดิมให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ที่ใช้กันในปัจจุบัน ที่เรียกกันว่าแปลโดยอรรถ หรือแปลเอาความ ไม่ต้องคำนึงถึงหลักไวยากรณ์ พร้อมทั้งเติมเครื่องหมาย จุลภาค (,) หรือ มหัพภาค (.) และเครื่องหมายอัญประกาศ ( “ ” )คำพูด เลขนอกและเลขใน ไว้ด้วย